ReadyPlanet.com
dot dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot


ระบบโปรแกรม SET
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพิ้นฐาน
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
เข้าสู่เว็บไซต์จังหวัดสุพรรณบุรี


เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก article

เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
   
  นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
     

ออทิสติก เริ่มเป็นคำที่คุ้นหูมากขึ้นในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่คิดว่าเด็กออทิสติกเป็นเด็กเอ๋อ หรือเด็กปัญญาอ่อนประเภทหนึ่ง จริงๆแล้วเด็กออทิสติกก็เหมือนเด็กทั่วไป เพียงแต่มีปัญหาความบกพร่องในพฤติกรรมการแสดงออกบางอย่าง ภาษาพัฒนาช้า และการเข้าสังคมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหากเด็กได้รับการปรับพฤติกรรม และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ก็จะทำให้เด็กออทิสติกสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้

 

เด็กออทิสติก คืออะไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กคนนี้เป็นออทิสติก

ออทิสติก คือ ปัญหาพัฒนาการรูปแบบหนึ่งซึ่งต่างจากเด็กทั่วไป มีลักษณะเฉพาะตัว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เด็กไม่สามารถพัฒนาด้านสังคม ด้านภาษาและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรมและความสนใจไม่เหมาะสม เป็นแบบแผน ซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก แสดงให้เห็นก่อนอายุ 3 ขวบ

เด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสติกก็มีความแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ สิบคนก็สิบแบบ ร้อยคนก็ร้อยแบบ แต่ก็มีลักษณะร่วมบางที่คล้ายกัน ที่เรียกว่าออทิสติก คือเด็กอยู่โลกของตัวเองมาก สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย มีลักษณะ ไม่พูด พูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาของตัวเอง เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจใคร โต้ตอบไม่เป็น เล่นไม่เหมาะสม จินตนาการไม่เป็น ทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน ไม่ยืดหยุ่น สนใจบางอย่าง แบบหมกมุ่น ไม่มีประโยชน์ ในรายที่อยู่ในโลกของตัวเองมาก จะกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว สะบัดมือ เล่นมือ เล่นเสียง

การที่จะดูว่าเด็กคนไหนเป็นออทิสติก ถ้าอาการมาก อาการรุนแรง จะดูออกได้ไม่ยาก แต่ถ้าอาการน้อยๆ จะดูยากมาก ต้องอาศัยความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก และเด็กบางคนอาจต้องประเมินหลายครั้งถึงจะสรุปได้ว่าเป็นหรือไม่

เด็กที่ขาดการกระตุ้นมากๆ เช่น เด็กในสถานสงเคราะห์ หรือบ้านเด็กกำพร้าต่างๆ อาจมีลักษณะคล้ายออทิสติกได้เช่นกัน แต่เมื่อมีการกระตุ้นอย่างเต็มที่ อาการก็จะเป็นปกติ ในขณะที่เด็กออทิสติกถึงแม้จะกระตุ้นเต็มที่แล้ว ยังมีอาการบางอย่างหลงเหลือติดตัวไปตลอด

 

เมื่อได้พบกับเด็กออทิสติก เราควรปฏิบัติต่อเขาอย่างไร

เด็กออทิสติกก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเด็กทั่วไป เพียงแต่ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม เด็กยังต้องการความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ เช่นกัน ดังนั้นเราก็ควรปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับเด็กอื่นทั่วไป ในฐานะความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพียงแต่เพิ่มเติมความห่วงใย และความเข้าใจ ให้คำแนะนำ และชี้แนะเป็นพิเศษ ตามสภาพปัญหาและความต้องการของเด็ก

ยิ่งทำความเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้รู้ว่าควรเพิ่มเติมความห่วงใยเป็นพิเศษได้อย่างไร ควรทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เด็กทำและพูดออกมาอย่างไม่เหมาะสมนั้น เป็นเพราะว่าเด็กไม่เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพราะเด็กนิสัยไม่ดี หรือแกล้งทำ เมื่อเกิดความเข้าใจก็จะทำให้ไม่รู้สึกตำหนิเด็ก และอยากให้ความช่วยเหลือ

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของเราเป็นเด็กออทิสติก การสังเกตพฤติกรรมจะแสดงอาการให้เห็นในช่วงอายุเท่าไร

เมื่อเด็กมีปัญหาพัฒนาการที่ล่าช้า หรือแตกต่างจากเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ไม่ว่าเด็กจะเป็นออทิสติกหรือไม่ก็ตาม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางส่งเสริมพัฒนาการโดยเร่งด่วน เพราะการช่วยเหลือเด็กแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะช่วง 3 ขวบปีแรก ได้ผลดีมาก อย่าไปกลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร แต่อย่าปล่อยให้ลูกเสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือ พัฒนาอย่างเหมาะสม

การสังเกตพฤติกรรมว่าเป็นออทิสติกหรือไม่ ในช่วงขวบปีแรกเห็นความแตกต่างน้อยมาก เด็กอาจมีการตอบสนองน้อยกว่าปกติ ไม่มองหน้าสบตาเวลาเล่นด้วย ไม่ยิ้มโต้ตอบ แต่เด็กบางคนก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ แสดงให้เห็น ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นความแตกต่างจากเด็กคนอื่นชัดเจนในช่วงอายุประมาณหนึ่งขวบ เด็กยังไม่ส่งเสียงพูดเป็นคำเดี่ยวๆ ไม่ตอบสนองเท่าที่ควร เล่นคนเดียวไม่สนใจใคร

เด็กในช่วงอายุขวบครึ่ง ให้สงสัยว่าอาจมีแนวโน้มในปัญหาเรื่องออทิสติกไว้ก่อน ถ้าเด็กมีอาการดังนี้ เล่นกับเด็กอื่นไปเป็น เล่นสมมติไม่เป็น ไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการ ขาดความสนใจร่วมกับเด็กคนอื่น ซึ่งถ้าเด็กมีอาการดังกล่าว 2 ใน 4 อาการ จำเป็นต้องรีบพาไปตรวจประเมินเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

ในเรื่องการพูด สามารถรอดูได้จนถึงอายุขวบครึ่ง ถ้าเด็กยังไม่พูดเป็นคำเดี่ยวๆที่มีความหมาย ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ และแนวทางดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมได้แล้ว จริงอยู่ที่เด็กบางคนอาจพูดช้า แต่พอพูดแล้วก็ปกติดีทุกอย่าง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ ปากหนัก ” แต่เด็กทุกคนไม่โชคดีแบบนั้นเสมอไป ถ้าไม่ใช่อย่างที่คิดอาจกลับมาแก้ไขอะไรไม่ทัน การรอคอยโดยไม่ลงมือทำอะไรอาจไม่สามารถทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

 

สาเหตุของความบกพร่องในออทิสติก มาจากไหน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของเด็กออทิสติกว่าเกิดจากอะไร แต่จากรายงานการวิจัย และผลการศึกษาค้นคว้าทางการแพทย์ ให้ความเห็นตรงกันว่า เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองและระบบประสาทบางตำแหน่ง และยืนยันได้ชัดเจนว่า ไม่ใช่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เด็กที่เป็นออทิสติก เลี้ยงดูอย่างไรก็เป็นออทิสติก แต่วิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับตัวเด็กจะช่วยพัฒนาเด็กให้ดีขึ้นได้มาก ลดความรุนแรงของปัญหา และช่วยให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

พบว่าเด็กออทิสติกมีความผิดปกติในการทำงานของสมองส่วนหน้า ( Frontal lobe) ซึ่งทำหน้าที่จัดการระบบและขั้นตอนการคิด การตัดสินใจ และสมองเล็กส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และการทรงตัว

นอกจากนี้ยังพบว่ามีความผิดปกติของยีนบางตำแหน่ง ทำให้เกิดปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งยีนได้ชัดเจน และยังอธิบายไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของความผิดปกติเหล่านี้ มีการถ่ายทอดแบบใด หรือเป็นการกลายพันธุ์ของยีน

นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายเชื่อมโยงถึงความผิดปกติที่พบเหล่านี้ กับอาการที่แสดงออกมา

แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนของออทิสติกได้ แต่ก็มีวิธีการที่สามารถช่วยเหลือเด็กให้ดีขึ้นได้มากมายในปัจจุบัน

 

การให้สังคมรับรู้และเข้าใจในเด็กออทิสติก ควรทำอย่างไร

การทำให้สังคมรับรู้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือการทำให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งสังคมไม่มีทางเข้าใจเด็กออทิสติกเลยถ้าไม่เคยสัมผัสเด็กเหล่านี้

การเปิดการรับรู้เรื่องออทิสติกสู่สังคม ทำได้โดยการให้ข้อมูลความรู้ ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ โปสเตอร์ นิทรรศการ หนังสือ วารสาร อินเตอร์เนต และอื่นๆ อีกมากมาย

ในหลายประเทศ รู้จักออทิสติกจากภาพยนตร์เรื่อง เรนแมน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันในสังคมไทยก็รับรู้เรื่องออทิสติกมากขึ้นจากสื่อทุกแขนงเช่นกัน

การรับรู้ เป็นประตูสู่การยอมรับและเข้าใจในที่สุด ถ้ามีคนแปลกหน้ามาเคาะประตูบ้านเราคงไม่กล้าเปิดรับ แต่ถ้าเรารู้ว่าใครจะมา มีคนแนะนำให้ข้อมูลล่วงหน้าแล้ว เราก็สามารถเปิดรับได้อย่างสบายใจ เมื่อรับเข้ามาแล้ว ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ร่วมกัน ก็จะทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

จุดที่เน้นคือการเรียนรู้ร่วมกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะไม่ใช่เราเท่านั้นที่จะต้องทำความเข้าใจเด็กออทิสติก ตัวเด็กเองก็จำป็นที่จะต้องเรียนรู้เข้าใจตัวเราเช่นกัน

 

วิธีการปรับพฤติกรรม เสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กออทิสติก ควรทำอย่างไร

การปรับพฤติกรรม คือการฝึกฝนให้เด็กสามารถคงพฤติกรรมที่เหมาะสมไว้ หยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และสร้างพฤติกรรมที่ต้องการขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคนิควิธีที่หลากหลายทั้งการให้แรงเสริมทางบวก แรงเสริมทางลบ และการลงโทษ

ควรเรียนรู้ว่าเด็กชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญ เพื่อใช้เป็นแรงเสริมด้านต่างๆ ได้ เช่น ถ้าเด็กชอบทานไอศกรีมมาก เราอาจนำมาเป็นรางวัล ให้เมื่อเด็กสามารถทำงานที่เราบอกได้เสร็จครบถ้วน ให้ร่วมกับการกอด หอม ตบมือ และกล่าวชมเชยด้วย เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ก็จะไม่รบกวนกระบวนการเรียนรู้ สามารถพูดคุยสื่อสารง่ายขึ้น สามารถให้ข้อมูลเสริมการเรียนรู้ต่างๆได้ง่ายขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญที่ปรับพฤติกรรมเด็ก คือ นักจิตวิทยา แต่ก็มีพยาบาล หรือนักกิจกรรมบำบัด ที่ได้รับการฝึกอบรม และทำงานในด้านนี้ มีความเชี่ยวชาญในการปรับพฤติกรรมเช่นกัน แต่สิ่งที่อยากเน้นในเรื่องการปรับพฤติกรรมให้ได้ผลคือ การฝึกฝนเองอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอทุกวัน ควบคู่ไปกับการฝึกฝน และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

 

ออทิสติกไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่าง แต่เป็นเพราะว่าเด็กทุกคนแตกต่างกัน

เราจึงควรเรียนรู้และเข้าใจ ในความแตกต่างกันของเด็กแต่ละคน




บทความ/เกร็ดความรู้

รายงานผลการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสุพรรณบุรีปัญญานุกูล โดยใช้แบบฝึกทักษะ
แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
งานวิจัยในชั้นเรียน เกมการศึกษา / พัฒนาศักยภาพทางการพูด / เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาประเภทดาวน์ซินโดรม โดย จุมพล บุญฉ่ำ article
บทบาทของครูและโรงเรียนต่อการอบรมเลี้ยงดูอย่างสร้างสรรค์



Copyright © 2010 All Rights Reserved.